วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562

สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้


แนวคิดเกี่ยวกับ ‘สภาพแวดล้อมการเรียนรู้’ (Learning Environment) มักเกี่ยวข้องกับการพัฒนาปรับปรุงบรรยากาศในชั้นเรียนและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน อีกคำหนึ่งที่เห็นใช้กันมากคือ ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ (Learning Ecosystem) มีความหมายที่ขยายขอบเขตมากกว่าพื้นที่โรงเรียน แต่ครอบคลุมไปถึงสถานที่ทำงาน ชุมชน ซึ่งแวดล้อมด้วยทรัพยากร ผู้คน และเทคโนโลยี ซึ่งล้วนมีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ
       มโนทัศน์ของคำว่า “สภาพแวดล้อมการเรียนรู้” มักถูกโน้มนำให้นึกถึงเพียงแค่การปรับปรุงลักษณะทางกายภาพดังเช่นอาคารสถานที่หรือสิ่งที่จับต้องได้ ซึ่งไม่เพียงพอในการทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบที่สนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้สร้างสรรค์ ดังนั้นการขยับมุมมองไปยังมิติเชิงวัฒนธรรมรวมถึงระบบโครงสร้างการศึกษา แล้วนำมาทดลองสังเคราะห์ จึงพอจะสรุปแนวคิดเบื้องต้นว่าด้วยสภาพแวดล้อมการเรียนรู้สร้างสรรค์ได้ ดังแผนภาพ
 001_con.jpg

          จากรูป สภาพแวดล้อมการเรียนรู้สร้างสรรค์ ควรมีองค์ประกอบที่จำเป็น 6 ประการได้แก่
1. แหล่งเรียนรู้หรือพื้นที่การเรียนรู้ ที่มีทรัพยากรหลากหลายและเพียงพอตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ นี่คือมุมมองในเรื่องพื้นที่กายภาพซึ่งคุ้นเคยกันดี
2. เนื้อหาสาระ หรือ Content แบ่งได้เป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือองค์ความรู้ของแหล่งเรียนรู้นั้นๆ และส่วนที่สองคือสื่อการเรียนรู้ เป็นตัวกลางที่นำองค์ความรู้ไปสู่ผู้เรียนหรือผู้ใช้
3. กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ในลักษณะที่เป็นทั้งโครงการ อีเว้นท์ และการรณรงค์ ซึ่งควรเน้นการสร้างประสบการณ์แก่ผู้ใช้ในลักษณะของการลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างความรู้ด้วยตนเอง และส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมการแบ่งปันความรู้หรือบทเรียนจากการลงมือทำไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว
4. ความหลากหลาย หมายถึงการยอมรับในความแตกต่างทั้งความคิดและวิถีชีวิต เคารพในอัตลักษณ์ย่อยไม่ให้ถูกกลืนหาย โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวเสมอไป
5. ความคิดสร้างสรรค์ โดยส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดเชิงตรรกะ คิดเป็นระบบ และความมีเหตุผล ตลอดไปจนถึงการคิดนอกกกรอบ การคิดแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการคิดสร้างสรรค์ที่สามารถต่อยอดจนเกิดเป็นนวัตกรรม
6. เสรีภาพในการแสดงออกทั้งการคิดการเขียนและการพูด โดยตระหนักถึงความรับผิดชอบในการใช้เสรีภาพที่จะต้องไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือคนส่วนใหญ่
          อุปสรรคของการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้สร้างสรรค์ในสังคมไทยนั้นดูเหมือนว่าจะไม่ได้อยู่ที่องค์ประกอบสามประการแรก (แน่นอนว่ามิใช่หมายความว่าองค์ประกอบเหล่านี้ไม่มีปัญหาในเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในการจัดการความรู้เพื่อสร้างต้นแบบหรือแนวปฏิบัติที่ดี การเข้าถึง และผลกระทบทางสังคม) แต่อยู่ที่องค์ประกอบสามประการหลังซึ่งอาจเรียกรวมกันไปว่า ‘บริบทที่ส่งเสริมการเรียนรู้สร้างสรรค์’

          กล่าวสำหรับการเรียนรู้ ปัญหาระดับรากฐานที่สุดคือสังคมไทยขาดการส่งเสริมให้คนรู้จักคิดวิเคราะห์คิดเป็นระบบและคิดอย่างมีเหตุผล หรือที่พูดกันจนแทบจะเป็นที่ยอมรับกันไปแล้วว่าเด็ก (นักเรียน) ไทยคิดไม่เป็น ซึ่งทักษะการคิดดังกล่าวจะฝึกฝนเรียนรู้กันได้ก็ต่อเมื่อระบบการศึกษามีบรรยากาศเปิดกว้าง ใช้อำนาจน้อย ลดการเรียนรู้เชิงเทคนิคและการท่องจำ ให้น้ำหนักกับการสร้างทักษะการเรียนรู้และปรับตัวของผู้เรียนให้สามารถพัฒนาตนเองได้ ย้ายความรู้ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ครูผู้สอนไปสู่ผู้เรียน ด้วยความเชื่อว่านักเรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยครูทำหน้าที่เป็นเพียงผู้กระตุ้นและคอยให้คำแนะนำ
          ในขณะเดียวกัน ระบบอุปถัมภ์และลักษณะอำนาจนิยมในสังคมไทยยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่บั่นทอนการคิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์อย่างร้ายแรง ทำให้พื้นฐานการวิจารณ์อ่อนแอ ขาดนิสัยการใช้เหตุผล หลักการไม่หนักแน่น คนไม่เห็นความจำเป็นของความรู้และความสามารถในการคิดเป็น ยอมรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การใช้เส้นสายและพวกพ้อง เน้นอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยภายใต้การอุปถัมภ์ของผู้มีอำนาจเหนือกว่า ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นและลงมือทำ เพราะกลัวถูกตำหนิหรือกลัวล้มเหลว
          ตราบใดที่ปัญหาเรื้องรังเหล่านี้ยังคงอยู่ มันก็จะยังคงกัดกินสังคมไทยจนไม่อาจสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีผู้เสนอทางออกหรือวิธีแก้ไขปัญหาแต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีข้อเสนอใดที่แตะลงไปถึงรากเหง้า นั่นคือ ‘ระบบอุปถัมภ์และลักษณะอำนาจนิยม’ ที่ฝังรากจนอาจเรียกได้ว่ากลายเป็นวัฒนธรรมเร้นลึก (Deep Culture) ที่ฝังอยู่ในยีนทางวัฒนธรรมของคนไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น