วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562

แนวคิดสำคัญการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ


           Lardizabal and others. (1970:142-143) ได้กล่าวถึงการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ต้องยึดหลักสำคัญที่ว่าแกนกลางของประสบการณ์อยู่ที่ความต้องการของผู้เรียนและประสบการณ์ในการเรียนรู้ จัดเป็นหน่วยการเรียน
      หน่วยการเรียนอาจแบ่งแยกออกเป็นประเภทใหญ่ได้ 3 ประเภท
1. หน่วยเนื้อ หา (Subject – Matter Unit) เป็นการเน้นหน่วยเนื้อ หาหรือหัวข้อเรื่องต่างๆหลักการหรือสิ่งแวดล้อม
2. หน่วยความสนใจ (Center of Interest Unit) จัดเป็นหน่วยขึ้นโดยพื้นฐานความสนใจและความต้องการ หรือจุดประสงค์เด่นๆของผู้เรียน
3. หน่วยเสริมสร้างประสบการณ์ (Integrative Experience Unit) เป็นการรวบรวมประสบการณ์ หรือจุดเน้นอยู่ที่ผลการเรียนรู้และสามารถนำไปสู่การปรับพฤติกรรม การปรับตัวของผู้เรียน
     หน่วยดังกล่าว หมายถึง กลุ่มกิจกรรมหรือ ประสบการณ์ที่จัดไว้เพื่อสนองจุดมุ่งหมายหรือสำหรับการแก้ปัญหาใด ปัญหาหนึ่ง การเรียนเริ่มจากจุดสนใจใหญ่ แล้วแยกไปสู่กิจกรรมในแง่มุมต่างๆ จนกระทั่ง ผู้เรียนสามารถตอบสนองสถานการณ์ที่กำหนดไว้ได้
            Unesco- unep. (1994: 51) กำหนดลักษณะของการบูรณาการการเรียนการสอนไว้ 2 แบบคือ
               1. แบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary) ได้แก่ การสร้างเรื่อง (Theme) ขึ้น มาแล้วนำความรู้จากวิชาต่างๆมาโยงสัมพันธ์กับ หัวเรื่องนั้นซึ่งบางครั้ง เราก็อาจเรียกวิธีการบูรณาการ แบบนี้ว่า สหวิทยาการแบบหัวข้อ (Themetic Interdisciplinary Studies) หรือการบูรณาการที่เน้นการนำไปใช้เป็นหลัก (Application – First Approach)
             2. แบบพหุวิทยาการ (Multidisciplinary) ได้แก่การนำเรื่องที่ต้องการจะจัดให้เกิดการบูรณาการไปสอดแทรก (Infusion) ไว้ในวิชาต่างๆซึ่งบางครั้ง เราก็อาจเรียกวิธีการบูรณาการ แบบนี้ว่า การบูรณาการที่เน้นเนื้อ หารายวิชาเป็นหลัก (Discipline – First Approach)

สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ. (2546 : 184-191) ให้แนวคิดการแบ่งประเภทการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ คือ
    แบบที่ 1. จำแนกตามจำนวนผู้สอน มี 3 ลักษณะ คือ
1.1    การบูรณาการแบบผู้สอนคนเดียว ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่างๆกับหัวเรื่องที่สอดคล้องกันกับชีวิตจริงหรือสาระที่กำหนดขึ้นมาเชื่อมโยงสาระและกระบวนการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะและกระบวนการเรียนรู้ไปแสวงหาความรู้ความจริงจากหัวข้อเรื่องที่กำหนด
1.2    การบูรณาการแบบคู่ขนาน มีผู้สอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันจัดการเรียนการสอนโดยอาจยึดหัวเข้อเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วบูรณาการเชื่อมโยงแบบคู่ขนานกันไปภายใต้เรื่องเดียวกัน
1.3    การบูรณาการแบบสอนเป็นทีม ผู้สอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันคิดหัวข้อเรื่องหรือโครงการมาโดยใช้เวลาเรียนต่อเนื่องกัน อาจรวมจำนวนชั่วโมงของสาระการเรียนรู้ต่างๆแบบมีเป้าหมายเดียวกัน
     แบบที่ 2.  จำแนกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
                  2.1 การบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงแนวคิด ทักษะและความคิดรวบยอดของสาระการเรียนรู้สาระใดสาระหนึ่งนั่นเอง
                  2.2 การบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่นำเอาสาระการเรียนรู้จากหลายกลุ่มสาระมาเชื่อมโยงกันเพื่อจัดการเรียนรู้ภายใต้หัวข้อเรื่องเดียวกัน
     แบบที่ 3.  จำแนกตามประเภทของการบูรณาการ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
                   3.1 การบูรณาการแบบสหวิทยาการ เป็นลักษณะการบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ การนำเอาสาระการเรียนรู้จากหลายกลุ่มสาระมาเชื่อมโยงร้อยรัดให้เป็นเนื้อเดียวกันเพื่อจัดการเรียนรู้ภายใต้หัวเรื่องเดียวกัน
                   3.2 การบูรณาการแบบพหุวิทยาการ เป็นลักษณะการบูรณาการที่ผู้สอนนำเอาเรื่องหรือสาระการเรียนรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ไปสอดแทรกในสาระการเรียนรู้หรือวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบสอน
          ทิศนา  แขมมณี และคณะ. (2548: 188-192) แบ่งประเภทการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็น 2 รูปแบบ คือ
1.     การบูรณาการภายในวิชา (Interdisciplinary) หมายถึง การนำเนื้อหาสาระในวิชาเดียวกัน หรือกลุ่มประสบการณ์เดียวกันมาสัมพันธ์กันผู้สอนสามารถนำสาระทุกเรื่องมาสัมพันธ์กันเป็นเรื่องเดียวได้
2.     การบูรณาการระหว่างวิชา (Interdisciplinary หรือ multidisciplinary) หมายถึง การนำเนื้อหาสาระของสองวิชา หรือหลายๆวิชามาสัมพันธ์ให้เป็นเรื่องเดียวกันภายใต้หัวข้อเรื่อง “theme” ที่เลือกในส่วนบูรณาการระหว่างวิชา สามารถจัดได้หลายลักษณะด้วยกัน และนำเสนอ 4 รูปแบบ ดังนี้
            แบบสอดแทรก(Infusion) คือลักษณะการจัดการเรียนรู้จะสอดแทรกเนื้อหาหรือทักษะกระบวนการของกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระของตน โดยมีผู้สอน 1 คน
            แบบคู่ขนาน(Parallel) คือลักษณะการจัดการเรียนรู้จะมีครู 2  คนขึ้นไป 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้ขึ้นไปวางแผนร่วมกันตามหัวเรื่อง/มโนทัศน์ (concept) /ปัญหา (problem) เดียวกันและเชื่อมโยงเนื้อหาสาระ กระบวนการและคุณธรรม แล้วต่างคนต่างสอนเนื้อหาตามกลุ่มสาระของตนเองโดยมีเป้าหมายร่วมกัน
            แบบพหุวิทยาการ(Multidisciplinary) แบ่งเป็น 4  ลักษณะดังนี้คือ
         - แบบสอนคนเดียว คือจะจัดการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่างๆกับหัวเรื่อง/มโนทัศน์/ปัญหาที่สอดคล้องกับชีวิตจริงหรือสาระที่กำหนดขึ้นมา
         - แบบแยกกันสอน คือการจัดการเรียนรู้จะคล้ายแบบคู่ขนานโดยเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่างๆตามหัวเรื่อง/มโนทัศน์/ปัญหา แล้วต่างคนต่างสอนเนื้อหาตามกลุ่มสาระของตัวเองแต่มอบหมายให้ทำโครงงานเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่างๆร่วมกันหรือบางเรื่องจัดสอนด้วยกัน
          - แบบสอนร่วมกันหรือแบบคณะ คือ การจัดการเรียนรู้จะร่วมกันวางแผน ปรึกษาหารือ กำหนดหัวเรื่องความคิดรวบยอดหรือปัญหาร่วมกันสร้างหน่วยเรียนรู้บูรณาการร่วมกันและสอนเป็นทีมหรือแยกกันสอนในบางเรื่อง
          - แบบข้ามวิชา (Transdisciplinary) คือลักษณะการจัดการเรียนรู้เป็นการบูรณาการที่สูงขึ้น สลัดความเป็น “วิชา” ของแต่ละศาสตร์ออกไปเป็นการเรียนโดยมีเค้าโครงหรือโจทย์ประเด็นปัญหาที่วางไว้ผู้เรียนเรียนรู้หรือแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาโดยผ่ากิจกรรมและการศึกษาค้นคว้าที่หลากหลาย

               กรมวิชาการ. (2549 : 3-4) ได้แบ่งประเภทการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการออกเป็น 2 แบบ คือ
1.     การบูรณาการภายในวิชา เป็นการเชื่อมโยงการสอนระหว่างเนื้อหาวิชาในกลุ่มประสบการณ์หรือรายวิชาเดียวกันเข้าด้วยกัน
2.     การบูรณาการระหว่างวิชา มี 4 รูปแบบ ดังนี้
                 การสอนบูรณาการแบบสอดแทรก เป็นการสอนในลักษณะที่ผู้สอนในวิชาหนึ่งสอดแทรกเนื้อหาวิชาอื่นๆในการสอนของตน
                 การสอนบูรณาการแบบคู่ขนาน เป็นการสอนโดยผู้สอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมวางแผนการสอนร่วมกันโดยมุ่งสอนหัวเรื่อง ความคิดรวบยอด หรือปัญหาเดียวกันแต่สอนต่างวิชากันหรือต่างคนต่างสอน
                 การสอนบูรณาการแบบสหวิทยาการ เป็นการสอนบูรณาการแบบคู่ขานแต่มีการมอบหมายงานหรือโครงการร่วมกัน
                 การสอนแบบบูรณาการแบบข้ามวิชาหรือสอนเป็นคณะ เป็นการสอนที่ผู้สอนวิชาต่างๆร่วมกันสอนเป็นคณะหรือเป็นทีมวางแผนปรึกษาร่วมกัน โดยกำหนดหัวเรื่อง ความคิดรวบยอด ปัญหาร่วมกันแล้วร่วมกันสอนผู้เรียนเป็นกลุ่มเดียว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น