วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562

การบูรณาการแบบสอดแทรก


การเรียนการสอนแบบบูรณาการ  เป็นการจัดการเรียนรู้โดยใช้ความรู้ ความเข้าใจ  และทักษะในวิชาต่างๆ มากกว่าหนึ่งวิชาขึ้นไป เพื่อแก้ปัญหาหรือแสวงหาความรู้ความเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งทำให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความคิด  ประสบการณ์  ความสามารถ  และทักษะต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน  ทำให้ได้รับความรู้  ความเข้าใจลักษณะองค์รวม
การสอนแบบบูรณาการเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงศาสตร์ หรือเนื้อหาสาขาวิชาต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความรู้ที่มีความหมาย มีความหลากหลาย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิติประจำวัน
            การสอนบูรณาการแบบสอดแทรก เป็นการสอนโดยครูคนเดียววางแผนและกำหนดหัวเรื่องและปัญหา แนวคิด โดยครูผู้สอนแต่ละวิชาสามารถสอดแทรกโจทย์ ประเด็น หรือ เนื้อหาวิชาอื่นๆ ลงไปในวิชาของตน เนื่องจากการเรียนการสอนบูรณาการจะช่วยให้เกิดการถ่ายโยงการเรียนรู้  ทำให้นักเรียนมองภาพในองค์รวม นักเรียนนำความรู้ที่ได้มาผสมผสานสัมพันธ์กัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
แนวคิด / ทฤษฎี
              กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ
     1. ปรัชญาการศึกษาแบบ  Progressivism  ของ  John Dewey
- การศึกษาคือชีวิต : คนต้องศึกษาตลอดชีวิต (ความรู้มากมายมหาศาล)
- เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
- การเรียนโดยการแก้ปัญหา
- ส่งเสริมร่วมมือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- สร้างเสริมการอยู่ร่วมกันในวิถีประชาธิปไตย
      2. ทฤษฎีการเรียนรู้ในด้าน  Cognitive  ที่ใช้  Constructivism  Approach    
        หลักสำคัญของ  Constructivism  คือ ผู้เรียนต้องสร้างความรู้เอง  ครูเป็นผู้ช่วย  โดยจัดหาข้อมูลข่าวสารที่มีความหมายให้แก่ผู้เรียน  หรือให้โอกาสผู้เรียนได้ค้นพบด้วยตนเอง  และเป็นผู้ลงมือกระทำ
             3. ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมายของ  Ausubel
   ทฤษฎีการเรียนรู้ของ  Ausubel  เน้นความสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีความเข้าใจและมี
ความหมายการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิมที่อยู่ในสมองของผู้เรียน
            4. การถ่ายโยงการเรียนรู้  (Transfer of Learning)
   การถ่ายโยงการเรียนรู้  หมายถึง  การนำสิ่งที่เรียนรู้แล้วไปใช้ในสถานการณ์ใหม่  การถ่าย
โยงการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่สำคัญเพราะวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่สำคัญประการหนึ่งคือเตรียมผู้เรียนให้สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ในอนาคตทั้งในด้านประกอบอาชีพและการแก้ปัญหาต่าง ๆ
ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนโดยการบูรณาการ              
                   สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ  ได้กำหนดขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนโดยการบูรณาการ ดังนี้
                   1. ศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                   2. จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
                   3. การจัดหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ
                   4. การจัดแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ
                   5. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ
สำนักงานโครงการพิเศษ  สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ  กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ดังนี้
      1. กำหนดเรื่องที่จะสอน  โดยการศึกษาหลักสูตรและวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกัน   เพื่อนำมากำหนดเป็นหัวเรื่องหรือปัญหา  หรือความคิดรวบยอดในการสอน
                  2. กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้  โดยการศึกษาจุดประสงค์ของวิชาหลักและวิชารองที่จะนำมาบูรณาการ  และกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ในการสอนสำหรับหัวเรื่องนั้น ๆ เพื่อการวัดและประเมินผล
                  3. กำหนดเนื้อหาย่อย เป็นการกำหนดเนื้อหาหรือหัวเรื่องย่อย ๆ สำหรับการเรียนการสอนให้สนองจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้
                  4. วางแผนการสอน  เป็นการกำหนดรายละเอียดของการสอนตั้งแต่ต้นจนจบ   โดยการเขียนแผนการสอน  ซึ่งประกอบด้วยสำคัญเช่นเดียวกับแผนการสอนทั่วไป คือ  สาระสำคัญ  จุดประสงค์  เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน  การวัดผลประเมินผล
                  5. ปฏิบัติการสอน  เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่กำหนดไว้                                    ในแผนการสอน  รวมทั้งมีการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน  ความสอดคล้องสัมพันธ์กัน     ของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  ผลสำเร็จของการสอนตามจุดประสงค์  ฯลฯ  โดยมีการบันทึกจุดเด่น  จุดด้อยไว้สำหรับการปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
                  6. การประเมินปรับปรุง  และพัฒนาการสอน  เป็นการนำผลที่ได้บันทึก  รวบรวมไว้ในขณะปฏิบัติการสอน มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาแผนการสอนแบบบูรณาการให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
             ทิศนา   แขมมณี  ได้กำหนดตัวบ่งชี้การจัดการเรียนรู้โดยการบูรณาการ  ดังนี้
  1) ผู้สอน หรือผู้สอนและผู้เรียนมีการจัดเตรียมหน่วยบูรณาการ  โดยมีการวิเคราะห์  อภิปรายเกี่ยวกับหลักสูตร  เนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์   และนำเนื้อหาสาระภายในวิชา  / ระหว่างวิชา  มาสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกันโดยใช้วิธีการและกระบวนการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม   เพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ         
              2) ผู้สอน หรือผู้สอนและผู้เรียนมีการร่วมกันกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สามารถสนองวัตถุประสงค์ที่กำหนด  ทั้งนี้กิจกรรมควรมีลักษณะที่สำคัญ  ดังนี้
                   2.1) เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนมีโอกาสศึกษาหาความรู้หรือสร้างความรู้ในเนื้อหาสาระที่นำมาบูรณาการครบทุกเรื่อง    
                   2.2) เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนมีโอกาสได้ใช้ความรู้ / เนื้อหาสาระที่นำมาบูรณาการ    
                   2.3) เป็นกิจกรรมที่เน้นความเข้าใจ  มิใช่เพียงความจำเนื้อหาสาระ   
                   2.4) เป็นกิจกรรมที่เน้นความสัมพันธ์เป็นภาพรวม
              3) ผู้เรียนมีการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้  ภายใต้คำปรึกษาแนะนำของผู้สอน
              4) ผู้สอนและผู้เรียนมีการร่วมกันอภิปราย สะท้อนความคิด  และสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ
              5) ผู้สอนมีการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนครบถ้วนทุกด้านตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ
1. สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้นจะเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันกับศาสตร์ในสาขาต่างๆ ผสมผสานกันทำให้ผู้เรียนที่เรียนรู้ศาสตร์เดี่ยวๆ มาไม่สามารถนำความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาได้   ดังนั้นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการจะช่วยให้สามารถนำความรู้  ทักษะจากหลายๆ ศาสตร์มาแก้ปัญหาได้กับชีวิตจริง
2. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ทำให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงความคิดรวบยอดของศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้ (Transfer of learning) ของศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้ผู้เรียนมองเห็นประโยชน์ของสิ่งที่เรียนและนำไปใช้จริงได้
3. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วยลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหารายวิชาต่างๆ ในหลักสูตรจึงทำให้ลดเวลาในการเรียนรู้เนื้อหาบางอย่างลงได้ แล้วไปเพิ่มเวลาให้เนื้อหาใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
4. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการจะตอบสนองต่อความสามารถในหลายๆ ด้านของผู้เรียนช่วยสร้างความรู้ ทักษะและเจตคติ “แบบพหุปัญญา” (Multiple intelligence)
5. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการจะสอดคล้องกับทฤษฎีการสร้างความรู้โดยผู้เรียน (Constructivism) ที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน
          การบูรณาการแบบสอดแทรก (Infusion)
    การเรียนรู้แบบนี้ผู้สอนจะนำเนื้อหาของวิชาต่างๆ มาสอดแทรกในรายวิชาของตนเองเป็นการวางแผนการสอนและทำการสอนโดยผู้สอนเพียงคนเดียว
ข้อดี        1. ผู้สอนคนเดียวบริหารทั้งเนื้อหาวิชา กิจกรรมการเรียนรู้และเวลาที่ใช้
โดยสะดวก
               2. ไม่มีผลกระทบกับผู้สอนผู้อื่นและการจัดตารางสอน
ข้อจำกัด   1. ผู้สอนคนเดียวอาจไม่มีความชำนาญในเนื้อหาวิชาบางเรื่อง
                 2. เนื้อหาวิชาและกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดอาจซ้ำซ้อนกับของวิชาอื่น
                 3. ผู้เรียนจะมีภาระงานมากเพราะทุกรายวิชาจะต้องมอบหมายงานให้
การบูรณาการแบบสอดแทรก (Infusion) ผู้สอนจะนำเนื้อหาของวิชาต่างๆ มาสอดแทรกในรายวิชาของตนเองเป็นการวางแผนการสอนและทำการสอนโดยผู้สอนเพียงคนเดียว บริหารทั้งเนื้อหาวิชา กิจกรรมการเรียนรู้และเวลาที่ใช้โดยสะดวก สอดคล้องกับชีวิตจริงของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ และกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และสามารถนำเนื้อหาและทักษะที่เรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น